วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทบาทของสตรี


บทบาทของสตรี ศึกษาตัวอย่างจากประวัติของเศาะหาบิยาต
แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้สร้างมนุษย์ ทั้งเพศชายและเพศหญิงเป็นคู่กัน โดยทั้งคู่เป็นสิ่งที่ขาดจากกันไม่ได้เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต ดังปรากฏในวจนะของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม มีใจความว่า “แท้ จริงแล้วเหล่าผู้หญิงนั้นคือผู้เคียงคู่ผู้ชาย” (อบู ดาวูด) ดังนั้นจึงไม่เป็นที่คลางแคลงอีกเลยว่า บทบาทของผู้หญิงในการร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตครอบครัวและสังคมให้ดีนั้นมี ความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยถ้าจะหมายถึงว่าเป็นเสาหลักแล้วก็เป็นการตีความที่ถูกต้องตามนัยยะที่ว่า ภาระหน้าที่อีกส่วนหนึ่งในชีวิตผู้ชายมิอาจจะสมบูรณ์ได้ถ้าหากปราศจาก ผู้หญิง สังเกตได้จากหะดีษบทหนึ่งซึ่งมีความว่า “ผู้ใดที่อัล ลอฮฺประทานภรรยาที่ดีให้เขา แน่แท้ย่อมแสดงว่าพระองค์ได้ช่วยเหลือในครึ่งหนึ่งของศาสนาเขาแล้ว” (อัล-หากิม)
ณ ที่นี้ขอยกตัวอย่างบทบาทของมุสลิมะฮฺในการทำหน้าที่เป็นเสาหลักสำหรับคู่ ชีวิตของนาง จากเรื่องเล่าของบรรดาภริยาท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม และเหล่าเศาะหาบิยาต ผู้เป็นบุปผชาติแห่งสวนสวรรค์ พอสังเขปดังนี้



1.        เคาะ ดีญะฮฺ บินติ คุวัยลิด
เคาะดีญะฮฺ บินติ คุวัยลิด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ภริยาคนแรกของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งซึ่งประเสริฐที่สุดในหมู่สตรีทั้งหลายในโลก ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม มักจะพูดถึงนางด้วยความชื่นชมและยกย่องเสมอ ท่านอาอิชะฮฺ เคยเล่าว่า “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เมื่อกล่าวถึงเคาะดีญะฮฺแล้ว ไม่เบื่อที่จะพูดยกย่องและอิสติฆฺฟารฺ(ขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ)ให้นาง วันหนึ่งขณะที่ท่านพูดถึงนางอีกครั้งฉันมีความรู้สึกหึงหวงขึ้นมา จึงได้กล่าวแก่ท่านว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้ทดแทนให้ท่านจากหญิงที่มีอายุมาก(ด้วยภรรยาคนอื่น)แล้ว เมื่อนั้นฉันเห็นท่านรอซูลโกรธมากจนฉันใจสั่น และคิดในใจว่า โอ้ อัลลอฮฺ หากพระองค์ทำให้ท่านหายโกรธฉันแล้ว ฉันจะไม่กล่าวถึงเคาะดีญะฮฺด้วยคำพูดที่ไม่ดีอีกเลย เมื่อท่านรอซูลเห็นอาการฉันเช่นนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า ((เธอพูดเช่นนั้นได้อย่างไรกัน? ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ แท้จริงนาง(เคาะดีญะฮฺ)ได้ศรัทธาต่อฉันในขณะที่คนอื่นทั้งหลายไม่ยอมเชื่อ นางได้ต้อนรับฉันในขณะที่ผู้อื่นปฏิเสธฉัน และฉันยังได้มีบุตรกับนาง ในขณะที่พวกเธอไม่มีบุตรกับฉันเลย))” (อัซ-ซะฮะบีย์. สิยัร อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ. 2:112)
เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้เจอญิบรีลครั้งแรก ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจแก่ท่านเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้กลับไปหาเคาะดีญะฮฺด้วยอาการสั่นทั้งตัวเพราะความกลัว ท่านได้สั่งให้นางห่มผ้าให้และพูดกับนางว่า ((ฉันเป็นอะไรนี่เคาะดีญะฮฺ? ฉันกลัวเหลือเกินว่าจะเกิดอะไรไม่ดีกับฉัน)) นางได้ตอบท่านว่า “ไม่ ใช่เช่นนั้นอย่างแน่นอน จงยินดีเถิด ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ พระองค์จะไม่ทรงทำร้ายท่านเด็ดขาด แท้จริงท่านเป็นผู้ที่ผูกสัมพันธ์กับญาติมิตร ท่านเป็นผู้สัจจริงในคำพูด ท่านคอยแบกรับความเดือดร้อนของผู้อื่น และคอยช่วยเหลือในความถูกต้อง” นางยังได้พาท่านรอซูลไปหา วะรอเกาะฮฺ อิบนุ เนาฟัล ญาติผู้หนึ่งของนางที่เป็นผู้รู้เกี่ยวกับคัมภีร์อินญีล ซึ่งได้บอกแก่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ว่า ผู้ที่มาหาท่านนั้นคือญิบรีล ผู้เคยลงมาหาศาสนทูตมูซาแล้วในอดีต (อัล-บุคอรีย์ ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:112)
2.        อา อิชะฮฺ บินติ อบู บักรฺ
ในบรรดาภริยาทั้งหลายของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ท่านอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เป็นภรรยาที่ท่านรักมากที่สุด เพราะนางมีความพิเศษหลายประการที่สร้างความสุขให้ชีวิตของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม
ในฐานะสามี สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือความสุขที่ได้รับจากภรรยา และอาอิชะฮฺได้ทำหน้าที่นี้อย่างดีเยี่ยมแก่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม นางเป็นภรรยาคนเดียวที่ท่านรอซูลแต่งงานในขณะที่ยังเป็นสาว เป็นบุตรีของอบู บักรฺ สหายผู้เป็นที่รักที่สุดของท่านรอซูล นางมีนิสัยเยี่ยงเด็กสาวที่มักจะขี้เล่น อ่อนโยน ไร้เดียงสาเหมือนเด็กๆ ในขณะที่มีความเฉลียวฉลาดเป็นยอด และเข้าใจปรนนิบัติสามีของนางอย่างดี
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เล่าให้ฟังว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้วิ่งแข่งกับนางและนางได้วิ่งชนะท่าน จนเมื่อนางอ้วนขึ้นท่านก็วิ่งชนะนาง และกล่าวแก่นางว่า “นี่อาอิชะฮฺ ชนะครั้งนี้แทนที่แพ้ครั้งก่อนไงล่ะ” (อะหฺมัด, อบู ดาวูด, อัน-นะสาอีย์, อิบนุ มาญะฮฺ. ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:174)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เคยนอนหนุนตักอาอิชะฮฺในขณะที่นางมีรอบเดือน และท่านได้อ่านอัล-กุรอานให้นางฟัง ท่านเคยจูบนางในขณะที่นางถือศีลอด และยังให้นางหวีผมให้เมื่อตอนที่ท่านอิอฺตีก้าฟในมัสยิดโดยยื่นศรีษะให้นาง ซึ่งอยู่นอกมัสยิด (อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)
ท่านอาอิชะฮฺ ได้เล่าอีกว่า เคยอาบน้ำญะนาบะฮฺร่วมกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม จากถังใบเดียว ท่านได้รีบอาบแข่งกับฉัน จนฉันกล่าวว่า ปล่อยบ้าง ปล่อยให้ฉันอาบบ้าง (มุสลิม)
เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ใกล้จะเสียชีวิตนั้น อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อบู บักรฺ ได้เข้ามาหาท่านพร้อมไม้สีฟันที่ยังสดอยู่ ท่านได้มองดูมัน จนท่านอาอิชะฮฺสังเกตเห็นและเข้าใจว่าท่านต้องการมัน นางเล่าว่า “ฉัน จึงเอาไม้สีฟันนั้นมากัดให้นุ่มและส่งให้ท่าน ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ใช้ไม้นั้นสีฟันและส่งมันคืนแก่ฉัน แต่มือของท่านตกลงไปด้วยไม่มีแรง ฉันได้ขอดุอาอ์ให้ท่านด้วยดุอาอ์ที่ญิบรีลได้ขอให้ท่านทุกครั้ง เป็นดุอาอ์ที่ท่านรอซูลเองขอให้ตัวเองเมื่อท่านป่วย แต่ครั้งนี้ท่านไม่ได้อ่านมัน จากนั้นท่านได้มองไปยังเบื้องบนและกล่าวว่า ((สู่การเป็นสหายกับผู้สูงส่งยิ่ง)) แล้วลมหายใจของท่านก็หมดลง ขอสรรเสริญอัลลอฮฺที่ได้รวมน้ำลายของฉันกับของท่านในห้วงสุดท้ายแห่งชีวิต ของท่านรอซูลในโลกดุนยา” (อะหฺมัด, อัล-หากิม. ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:189)
มีคนถามท่านอาอิชะฮฺว่า โอ้ ผู้เป็นมารดาแห่งศรัทธาชน อัลกุรอานและความรู้เกี่ยวกับสิ่งหะลาลและหะรอมนั้นท่านรับมาจากรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ส่วนความรู้เกี่ยวกับกวี เชื้อสาย และเรื่องเล่านั้นท่านรับมาจากบิดาและคนอื่นๆ แล้วความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ท่านรับมาจากไหนกันเล่า? ท่านอาอิชะฮฺตอบว่า “ได้ มีแขกจากที่ต่างๆ มาหาท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เป็นประจำ บ่อยครั้งที่มีผู้ถามท่านเกี่ยวกับโรคนั้นโรคนี้ และท่านได้บอกพวกเขาถึงยาต่างๆ ในการใช้รักษา ฉันได้ฟังได้จำมาและเข้าใจมัน” (อัซ-ซะฮะบีย์. 2:197)
3.        อุ มมู สะละมะฮฺ
เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม เสร็จจากการทำสนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮฺ ท่านได้สั่งบรรดาเศาะหาบะฮฺให้เชือดสัตว์และโกนผมเพื่อออกจากอิหฺรอม แต่ต่างคนต่างก็ไม่มีผู้ใดทำเพราะยังฝังใจที่พวกกุเรชขัดขวางไม่ให้เข้ามัก กะฮฺ ท่านได้สั่งเช่นนั้นถึงสามครั้ง เมื่อเห็นว่าไม่มีใครทำตาม จึงเข้าไปหาอุมมุ สลามะฮฺ และเล่าให้นางฟัง ด้วยไหวพริบของอุมมุ สลามะฮฺ นางบอกแก่ท่านรอซูลว่า “ท่านจงออกไปโดยไม่ต้องพูดกับผู้ใดทั้ง สิ้น จนกว่าท่านได้เชือดสัตว์และโกนผมแล้ว” ท่านจึงได้ออกไปอีกครั้งและทำตามที่นางเสนอ เมื่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเห็นดังนั้นจึงรีบทำตามท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม กันอย่างถ้วนหน้า (อิบนุล ก็อยยิม. ซาดุล มะอาด )
4.        อุ มมู ซุลัยมฺ
อุมมู ซุลัยมฺ เป็นภรรยาของอบู ฏ็อลหะฮฺ เป็นมารดาของท่านอะนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุม
อะนัส เคยเล่าถึงแม่ของท่านว่า ลูกคนหนึ่งของอุมมู ซุลัยมฺ ป่วยหนัก เมื่ออบู ฏ็อลหะฮฺ ออกไปยังมัสยิดเด็กน้อยก็เสียชีวิต นางจึงจัดแจงศพของเขาให้เรียบร้อยและสั่งว่าอย่าเพิ่งบอกแก่อบู ฏ็อลหะฮฺ เมื่ออบู ฏ็อลหะฮฺกลับมา นางก็จัดอาหารค่ำให้และทั้งสองร่วมหลับนอนจนกระทั่งเมื่อถึงช่วงท้ายของคืน นางก็พูดกับอบู ฏ็อลหะฮฺว่า “ท่านเห็นอย่างไรกับครอบครัวหนึ่ง ที่ยืมของจากคนอื่นมา และเมื่อเจ้าของมาทางของคืนพวกเขากลับไม่ยอมให้มันแก่เขา และรู้สึกลำบากที่จะคืนให้” อบู ฏ็อลหะฮฺ ตอบว่า “แสดงว่าพวกเขาไม่มีสำนึก” นางจึงกล่าวต่อว่า “แท้จริงลูกของท่านก็ เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺให้ท่านยืมมา แล้วพระองค์ก็ได้มาเอาคืนไปแล้ว” เมื่อนั้นอบู ฏ็อลหะฮฺ จึงได้กล่าว อินนาลิลลาฮฺ วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน และสรรเสริญอัลลอฮฺ จนเมื่อถึงรุ่งเช้า อบู ฏ็อลหะฮฺ ได้ไปพบกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ไม่ทันที่จะพูดอะไร ท่านรอซูล ก็กล่าวว่า ((ขออัลลอฮฺทรงประทานความประเสริฐให้กับคืนของพวกเจ้าทั้งสอง)) (อัล-บุคอรีย์และมุสลิม ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:310)
5.        อัส มาอ์ บินติ อบู บักรฺ
อัสมาอ์ บินติ อบู บักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เป็นผู้ที่คอยนำอาหารและน้ำให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม และบิดาของนาง เมื่อครั้งที่ทั้งสองอพยพจากมักกะฮฺและพักอยู่ในถ้ำหิรออฺ นางได้เล่าให้ฟังว่า “ฉันได้เตรียมสำรับให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ในบ้านของพ่อเมื่อครั้งที่ท่านต้องการอพยพ แต่ฉันไม่มีเชือกที่จะใช้ผูกถุงสำรับอาหารและที่ใส่น้ำดื่ม ฉันกล่าวกับพ่อว่า ฉันไม่มีอะไรนอกจากผ้าคาดเอวของฉันเท่านั้น ท่านจึงสั่งให้ฉันฉีกผ้าออกเป็นสองสายและใช้ผูกถุงสำรับอาหารกับน้ำดื่ม” ตั้งแต่นั้นมานางจึงได้ชื่อว่า ซาตุน นิฏอก็อยนฺ หมายถึง หญิงผู้มีผ้าคาดเอวสองสาย และอบู ญะฮัล ได้มาหานางที่บ้านเพื่อซักถามว่าพ่อของนางไปไหน นางเล่าว่า “ฉัน ตอบว่า ฉันไม่รู้ ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันไม่รู้ว่าเขาไปไหน เมื่อนั้นอบู ญะฮัลจึงยกมือขึ้นตบหน้าฉันจนกระทั่งต่างหูอันหนึ่งหลุดไป” (อัซ-ซะฮะบีย์. 2:289-290)
อัสมาอ์ ได้แต่งงานกับ ซุเบร อิบนุ อัล-เอาวาม นางเล่าว่า “ซุเบรได้แต่งงานกับฉัน เขาไม่มีสมบัติอะไรนอกจากม้าที่ฉันคอยดูแลและหาอาหารให้ ฉันจะคอยหาเมล็ดอินทผาลัมมาทุบให้มันกิน ฉันจะขนเมล็ดพวกนั้นจากสวนของซุเบรที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม แบ่งให้เขาซึ่งอยู่ไกลจากบ้านมาก วันหนึ่งขณะที่ฉันกำลังเดินทูนเมล็ดอินผาลัมบนหัว ท่านได้รอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ขี่อูฐมาพร้อมกับเศาะหาบะฮฺหลายคน ท่านได้เข้ามาใกล้ฉันและสั่งให้อูฐนั่งลงเพื่อให้ฉันขึ้นไปขี่ข้างหลัง แต่ฉันอายและนึกถึงความหึงหวงของซุเบรจึงไม่ได้ขึ้นไปขี่ ท่านรอซูลจึงจากไป เมื่อถึงบ้านฉันได้เล่าเรื่องนี้ให้ซุเบรฟัง เขาได้กล่าวว่า “แท้ จริง ที่เธอทูนเมล็ดพวกนั้นบนหัวย่อมหนักใจแก่ฉันมากกว่าที่เธอขึ้นไปขี่หลังอูฐ กับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะซัลลัม” จนกระทั่งเมื่ออบู บักรฺ ได้ส่งคนใช้มาให้ฉัน ฉันจึงไม่ต้องคอยดูแลม้าอีก และรู้สึกเหมือนเป็นทาสที่ถูกปลดปล่อย” (อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม ดู อัซ-ซะฮะบีย์. 2:291)
ในสมัยการปกครองของอับดุลมาลิก อิบนุ มัรฺวาน บุตรคนหนึ่งของนางคืออับดุลลอฮฺ อิบนุ ซุเบร ไม่ยอมขึ้นต่ออับดุลมาลิก โดยได้แยกตัวมาปกครองมักกะฮฺ อับดุลมาลิกจึงใช้แม่ทัพของตนยกทัพมาตีมักกะฮฺ ในฐานะที่เป็นแม่ อัสมาอ์ ผู้มีความเด็ดเดี่ยวได้ปลูกฝังจิตสำนึกในตัวลูกของนางด้วยการสั่งเสียว่า “ลูก จงมีชีวิตอยู่ด้วยเกียรติ จงตายไปด้วยเกียรติ และจงอย่ายอมให้ใครมาจับเป็นเชลย” “เจ้าอย่าเชียวที่จะยอมรับ ข้อเสนอที่เจ้าไม่เห็นด้วย เพียงเพราะเจ้ากลัวตาย” (อัซ-ซะฮะบีย์. 2:293)
บทเรียน
                เรื่องราวต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างของเหล่าสตรีศอลิหะฮฺที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการเป็น เสาหลัก ทั้งในด้านการเป็นพลังทางใจที่สำคัญ เป็นผู้มอบความสุขในชีวิตให้แก่สามี เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ปรนนิบัติ ผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ยืนหยัดและเด็ดเดี่ยว คอยช่วยเหลือ เข้าใจและรับภาระในหน้าที่ของตนอย่างมั่นคง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น วัลลอฮฺ อะอฺลัม

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

มุสลิมคือคนดี


คำพูดตามหัวข้อที่ผมตั้งนี้ บางคนอาจจะแปลกใจ ทำไมไปตีความเอาง่ายๆ อย่างนั้น เพราะบางคนนั้นเขาว่าเป็นมุสลิมแต่การกระทำของเขารับไม่ได้เลย แล้วจะนับว่าเขาเป็นคนดีได้อย่างไร
มุสลิมเป็นคนดีนี้ ไม่ใช่ผมอาจหาญให้คำจำกัดความเช่นนี แต่ผมไปตีความจากความหมายง่ายในอัลกุรอานที่ว่า

"พวก เจ้า(มุสลิม)คือประชาชาติที่ดียิ่ง พวกเจ้าถูกสั่งให้ออกหามวลมนุษย์
สั่ง สอนในสิ่งที่ชอบและห้ามปรามในสิ่งไม่ชอบ และศรัทธาในอัลลอฮฺ
"
(อัล กุรอาน : อาลิ-อิมรอน 110)
อายัตหรือโองการอัลกุรอนโองการนี้เป็นที่แน่ ชัดแล้วว่า มุสลิมนั้นเป็นกลุ่มประชาชาติที่ดี (خير الأمة) และทีดีเพราะภาระของของมุสลิมคือ เชิญชวนให้มวลมนุษย์กระทำดีและเชิญชวนให้พวกเขาละทิ้งความชั่ว ท่านอิมามอิบนุกะษีรฺกล่าวในตัฟซีรฺของท่านว่า ประชาชาติที่ดีในที่นี้หมายถึงเป็นมนุษย์ที่ให้ประโยชนแก่มนุษย์ด้วยกัน(خير الأمم وانفع الناس للناس) และสุดท้ายสุดของโองการนี้ คือ ที่ว่าดีนั้นเพราะศรัทธามั่นในอัลลอฮฺด้วย
มุสลิมทุกคน จะเป็นคนดีจริงหรือ ?
มุสลิมเมื่อคลอดออกมาแล้ว เติบใหญ่ ก็จะเป็นคนดี กระนั้นหรือ ?
แค่พ่อแม่เขาเป็นมุสลิม เขาก็จะเป็นคนดีหรือ ?
เมื่อทะเบียนบ้านของเขาตีตราว่าเป็น มุสลิม(นับถือศาสนาอิสลาม) เขาจะเป็นคนดีใช่ไหม ?
ทั้งหมดทีกล่าวมานี้ยังประกันไม่ได้ว่า เขาคนนั้นเป็นคนดี เพราะคนดีต้องพิสูจน์ที่การกระทำ ทำในสิ่งที่ชอบ ตามความต้องการของสังคม
คนที่นับถือศาสนาอิสลามแล้ว ถ้าจะเป็นคนดี ก็ต้องทำตามที่สังคมต้องการ และสิ่งที่สังคมต้องการนั้นต้องการันตีด้วยว่า ดีจริงๆ ไม่ใช่ว่าสังคมของพวกเขาว่าเป็นเป็นคนดี แต่สังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
และการจะให้คนๆหนึ่งเป็นคนดีนั้น ไม่ใช่ให้มานับอิสลามแล้วเขาจะเป็นคนดี แต่จะเป็นคนดีได้ด้วยนั้นจะต้องสร้างเขา เตรียมความพร้อมสู่การเป็นมนุษย์ที่ดีคนหนึ่งบนโลกนี้ การสร้างความพร้อมเช่นนี้เราเรียกว่าให้การศึกษา Education หรือ التربية
التربية (อัตตัรบียะฮฺ) แม้คำนี้จะไม่มีบันทึกในอัลกุรอาน ไม่มีในหะดีษ แม้แต่ในตำราของบรรดานักวิชาการรุ่นเก่าก็ไม่มี แต่ความหมายของคำนี้อิสลามไม่เคยปฏิเสธเลยว่าต้องกระทำ
التربية คือ การดูแลให้เจริญงอกงามตามที่ควรจะเป็น เมื่อต้องการให้คนเป็นคนดีก็ต้องดูแลคนๆนั้นให้เจริญงอกงามตามที่หวังไว้ ด้วยวิธีการที่ควรจะกระทำ
โบราณก่อนเก่า นักปราชญ์เขานั่งคิด(Armchair method))ตามความสามารถทางปัญญาที่พระเจ้าประทานให้ ว่าถ้าจะให้คนเป็น คนดีต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้  
คนรุ่นหลัง ได้วิธีการดูแลคนให้เจริญงอกงามเป็นคนดี ตามวิธีการที่เขาสังเกต ทดสอล ทดลอง และลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เมื่อพบว่าไม่ได้ผลก็จะผลัดเปลี่ยนใช้วิธีการใหม่ จนบางครั้งเราตามไม่ทันเลยว่าวิธีการที่ถูกต้องจริงๆ นั้นต้องเป็นอยางร
แต่มุสลิมมีหลักเกณฑ์ชัดเจน มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อมนุษย์เราอัลลอฮฺสร้าง อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่อัลลอฮฺกำหนด ศาสนฑูตมุฮำมัดคือคนที่มาสอนการดำรง ชีวิตที่ถูกต้องตามที่อัลลอฮฺต้องการ และเป็นแบบอย่างการมีชีวิต แบบอย่างการสร้างคนให้เป็นคนดีอย่างสมบูรณ์พร้อม ดังนั้นหลักการหรือวิธีการ สร้างคนให้เป็นคนดีนั้นไม่ควรที่จะไปเอาจากการคิดขึ้นของคน หรือจากการลองผิดลองถูก
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า


"เรามิ ได้ให้บกพร่องแต่อย่างใดในคัมภีร์(อัลกุรอาน)" (อัลกุรอาน : อัล-อันอาม 38)
และท่านศาสนฑูตมุฮำมัด(ศ็อลฯ)ได้กล่าวว่า ...

"تركت فيكم أمرين لن تضلوا ما تمسكتم بهما : كتاب الله وسنة نبيه"
 ความว่า "ฉันได้ทิ้งแก่พวกเจ้าสองอย่าง พวกเจ้าจะไม่หลงทางเลยถ้าพวกเจ้ายึดกับสองอย่างนี้ คือ คัมภีร์ของอัลลอฮฺ(อัลกุรอาน)และแนวทางของศาสนฑูตของพระองค์"

เมื่ออัลกุรอานและหะดีษนบีได้ยืนยันเช่นนี้ ก่อนที่เราจะไปดูแลหรือเสริมสร้างลักษณะของบุคคลเป็นคนดีด้วยวิธีการอื่น เราควรจะไปศึกษาแลหาวิธีการนั้นจากอัลกุรอานและหะดีษนบีก่อน
แน่นอน เมื่อคนๆหนึ่งยอมรับอิสลามเป็นแนวทางการดำรงชีวิต และถูกอบรมสั่งสอนด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักที่อิสลามต้องการ คนๆนั้นก็จะเป็นคนดี และเมื่อเป็นกันหลายๆคน หรือมุสลิมทุกคน มุสลิมก็จะเป็นประชาชาติที่ดียิ่ง (خير الأمة) ตามที่อัลกุรอานได้บันทึกไว้

  ขอขอบคุณ gotoknow.org

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาอิสลาม

การศึกษาอิสลาม ISlAMIC EDUCATION التربية الإسلامية

                    การศึกษาอิสลามหรือการศึกษาในอิสลาม มีความเกี่ยวข้องกับมุสลิมทุกคน ไม่ได้เจาะจงเฉพาะครูหรือผู้ที่จะเป็นครูเท่านั้นที่จะต้องเข้าใจและเรียน รู้เกี่ยวกับการศึกษา ครูหรืออาจารย์อาจเกี่ยวข้องในฐานะผู้ใช้กระบวนการนำสารอิสลามสู่ผู้เรียน ส่วนบุคคลอื่นนั้นเกี่ยวข้องในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ที่รับสารนั้น
ทุกชนชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ และทุกยุคทุกสมัย มนุษย์จะต้องมีแนวการศึกษาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง อาจจะคล้ายคลึงกันบ้างระหว่างชนชาติ หรืออาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้นขึ้นอยู่กับปราชญาการดำเนินชีวิตของชน ชาตินั้นๆ
            เป้าหมายหลักของการศึกษาคือ การสร้างคนในตอบสนองความต้องการของชาติหรือผู้ปกครอง
            การศึกษาของคนในยุคกรีกโรมัน คือ การสร้างคนให้มีพละกำลังที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการต่อสู้และการใช้อาวุธ ส่วนการศึกษาอิสลาม การเน้นในมนุษย์ดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ถูกต้อง ปลอดภัย ตามที่ได้กำหนดมา คือ มีมารยาทในการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำร้ายกันและกัน ไม่ทำลายล้างธรรมชาติที่ให้คุณประโยชน์อย่างมหันต์แก่มวลมนุษย์ หมั่นทำศาสนกิจอยู่เป็นนิจ ไม่เคยลืมผู้ทรงสร้างโดยนึกถึงพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา
            ก่อนจะพูดถึงการศึกษาอิสลาม ปรัชญา วิธีการและขั้นตอนของระบบการศึกษาตามแนวนี้จะเป็นอย่างไรนั้น เราจำเป็นต้องย้อนอดีตตั้งแต่พระเจ้าสมัยได้ประทานศาสนาอิสลามมาแก่มวล มนุษย์ใหม่ๆ
            อิสลาม เราถือว่าเป็นศาสนาหนึ่งของมวลมนุษย์ และศาสนาในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะเป็นสิ่งเชื่อถือและยึดมั่นทางจิตใจเท่านั้น แต่ศาสนาคือวิถีชีวิต และวิถีชีวิตที่ใช้อัลกุรอานเป็นธรรมนูญ และยึดแนวทางนบีมุฮำมัด(ศ็อลฯ)เป็นแบบอย่างในทุกด้าน นั่นคือ ศาสนา อิสลาม ดังนั้นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทุกคน จะต้องยึดอัลกุรอานและแนวทางตามที่นบี(ศ็อลฯ)ได้สอนไว้เป็นหลัก จะเบี่ยงเบน ไขว้เขว ลดหย่อน หรือเสริมแต่งไม่ได้
 
            ชาวอาหรับก่อนที่อิสลามจะถูกนำมาเผยแพร่ พวกเขาอยู่ในโลกมืด พวกเขาอาจจะเจริญก้าวหน้าทางด้านการค้า แต่จิตใจของพวกเขาและสังคมของพวกเขาเน่าเฟะหาความงดงามทางจริยธรรมไม่ได้ ดังที่อัลลอฮฺได้เปรียบเปรยในอัลกุรอานว่า
أَوْ كَظُلُمَاتٍ فِي بَحْرٍ لُّجِّيٍّ يَغْشَاهُ مَوْجٌ مِّن فَوْقِهِ مَوْجٌ مِّن فَوْقِهِ سَحَابٌ ظُلُمَاتٌ بَعْضُهَا فَوْقَ بَعْضٍ
إِذَا أَخْرَجَ يَدَهُ لَمْ يَكَدْ يَرَاهَا وَمَن لَّمْ يَجْعَلِ اللَّهُ لَهُ نُوراً فَمَا لَهُ مِن نُّورٍ سورة النور : 40
             ความว่า : หรือเปรียบเสมือนความมืดมนทั้งหลายในท้อง ทะเลลึก มีคลื่นซ้อนคลื่นท่วมมิดตัวเขาและเบื้องบนของมันก็มีเมฆหนาทึบซ้อนกันชั้น แล้วชั้นเล่า เมื่อเขาเอามือของเขาออกมาเขาแทบจะมองไม่เห็นมัน และผู้ใดที่อัลลอฮ์ไม่ทรงทำให้เขาได้รับแสงสว่าง เขาก็จะไม่ได้รับแสงสว่างเลย (อัลกุรอาน สูเราะห์ อัน- นูร 24/40)
            ชาวอาหรับดั้งเดิมนั้นมีศาสนา และนับถือศาสนาตามบรรพบุรุษที่สืบทอดตั้งแต่สมัยนบีอิบรอฮีม(อะลัยฮิสสาลาม) แต่ด้วยเวลาที่ยาวนาน ด้วยความเป็นอัตตาของมนุษย์ สนใจแต่ความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ทำให้ศาสนาที่นำมาโดยนบีอิบรอฮีม ถูกบิดเบือนและเสริมแต่งรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนในที่สุดหลงเหลือกิจกรรมหลักๆเท่านั้นที่พอจะรับรู้ว่าพวกเขาเคยนับถือ ศาสนามาก่อน เช่น การทำฮัจญ์ แต่การทำฮัจญ์ของพวกเขาต้องเปลือยกาย ระหว่างเดินรอบๆ กะอฺบะฮฺ พวกเขาจะเปลือยกายทั้งชายและหญิง โดยถือว่าตัวตนของมนุษย์ที่ไม่มีสิ่งเสริมแต่งรอบนอกเป็นสิ่ง บริสุทธิ์ เวลากระทำกิจกรรมทางศาสนาที่ศักดิ์สิทธิไม่ควรคลุกเคล้าหรือปะปนกับสิ่ง สกปรก
            ความเน่าเฟะของสังคมของพวกเขาที่พอจะยกเป็นตัวอย่างในที่นี้ เช่น
            - เสริมแต่งศาสนา(ที่เรียกว่า บิดอะห์) เช่น ปั้นรูปปั้นแล้วบูชากันเอง วางไว้รอบกะอฺบะห์ เป็นร้อยๆ รูป โดยใช้รูปปั้นเป็นสัญลักษณ์แทนพระเจ้ามีอำนาจให้และไม่ให้อะไรแก่ใครก็ได้

            -  ฝังลูกสาวเป็นๆ โดยพวกเขามีความเชื่อว่า การมีลูกสาวนั้นจะอัปโชค ที่เป็นที่น่าอับอายขายหน้าแก่เพื่อนฝูงในสังคม ครั้งหนึ่งท่าน อุมัร อิบนุ คอฏฏ็อบ(รอฎิฯ) อยู่ๆท่านก็หัวเราะและอยู่ๆท่านก็ร้องไห้ สหายของท่านถามว่า ท่านหัวเราะและร้องไห้ทำไม ท่านตอบว่า ที่หัวเราะเพราะเคยปั้นรูปไว้บูชากับลูกอินทผาลัม แต่พอหน้าแล้งไม่มีอะไรกินก็กินพระเจ้าที่ปั้นขึ้น และที่ท่านร้องไห้ เพราะท่านเคยฝังลูกสาวทั้งเป็น
              - มีการฆ่าฟันกันระหว่างเผ่าพันธุ์ ถ้าเป็นสมัยนี้คงเป็นระหว่างหมู่บ้าน เพียงแค่สาเหตุวัวหรือสัตว์เลี้ยงของแต่ละเผ่ากินหญ้าข้ามเผ่ากัน (คง คล้ายๆกับเด็กนักเรียนอาชีวะ เพียงแค่มองหน้า หรือมีเครื่องหมายที่ต่างกันก็แทงกัน ยิงกันตาย)
              - ผิดลูกผิดเมีย โสเภณีมีท้วมเมือง หญิงหนึ่งคนหลายสามี หญิงบางคนเวลาคลอดลูกออกมา ถ้าชอบชายคนไหนก็บอกว่าเด็กคนนี้เป็นลูกของชายคนนั้น (คงไม่ ต่างกับสมัยนี้ที่มีหญิงชอบชายใดแล้วก็ออกข่าวว่าลูกในท้องเป็นลูกของชายคน นั้น เพียงแต่กรรมวิธีสมัยใหม่สามารถที่จะตรวจพิสูจน์ดีเอนเอบอกพ่อแม่ที่แท้จริง ของเด็กได้)
               - ดื่มเหล้าต่างน้ำ และการดื่มเหล้านี้มีมาจนถึงสมัยที่นบีได้อพยพไปมะดีนะห์แล้ว และในที่สุดเพราะศาสนาพวกเขาจึงเทเหล้าทิ้ง ถนนทุกสายในนครมะดีนะห์เจิงหนองไปด้วยน้ำเหล้า
                - การพนัน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งบางอย่างที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมเน่าเฟะของคนอาหรับในยุคมืด หรือ ยุคญาฮีลียะห์(ยุคไร้การศึกษา แต่ในทางศาสนาแล้วหมายถึงยุคนอกศาสนา)นี้ คล้ายๆ กับพฤติกรรมของคนมนุษย์เสรีนิยมในยุคสมัยปัจจุบัน
           แม้สังคมอาหรับในยุคนั้นจะเน่าเฟะเพียงใด แต่ด้วยอิสลาม การศึกษาที่นำโดยนบีมุฮำหมัด สามารถจะเปลี่ยนกลุ่มคนเหล่าให้เป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา(อิสลาม)เป็นผู้นำ และพวกเขาก็ได้แผ่อิสลามสู่มาติภูมิต่างๆ ในระยะเวลาอันสั้น
             การสอนของนบีมูฮำหมัด ท่านใช้ทฤษฎีอะไร มีการหยิบหรือนำเอาปราชญากรีกโรมันมาบ้างหรือไม่ ท่านมี โรงเรียนไหมสำหรับสอนบรรดาสหายของท่าน หรือ ดารุลอัรกอมที่ท่านใช้สอนบรรดาสหายในยุคแรกๆ นั้นคือ โรงเรียน ขั้นตอนและวิธีการสอนต่างๆ มีว่าอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับวิธีการสอนที่คนสมัยใหม่ไปเอาของตะวันตกอย่างไร
             หลักการสอนหรือวิธีการสอนที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน ดื่มสุรา กับที่ใช้ในสมัยนบีมุฮำหมัด วิธีการใดที่ได้ผลและสมควรนำไปเป็นแบบอย่างมากที่สุด
              ประมาณปี ค.ศ.1929 สหรัฐ อเมริกาได้พยายามทุกวิธีทางให้ประชาชนของเขาเลิกการดื่มเล่า ใช้ทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อภาพยนตร์ เพื่อโฆษนาถึงอันตรายของการดื่มเหล้า โดยได้สิ้นเปลืองงบประมาณในการนี้มากมาย และตลอดระยะเวลา 14 ที่ รณรงค์ในเรื่องนี้ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ได้จำคุกคนทำผิดเนื่องจากดื่มเหล้ามากกว่าครึ่งล้านคน และได้ประหารชีวิตมากถึง 532,325 คน แต่ในที่สุดทางรัฐบาลสหรัฐก็ต้องยกเลิกกฎหมายในห้ามเหล้าปี 1933 และ อนุญาตให้ดื่มเหล้าอย่างเสรี
             ในยุคแรกของอิสลาม อิสลามไม่ได้ห้ามการดื่มเหล้า และคนอาหรับในสมัยนั้นคงไม่ต่างกับคนสหรัฐในการเป็นคนขี้เหล้า ดื่มเหล้าต่างน้ำ จนบางครั้งไปทำศาสนากิจไม่รู้ว่าได้อ่านอะไรไปบ้าง จนอัลลอฮฺได้ประทานอัลกุรอานห้ามดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด และมุสลิมก็ได้เทเหล้าทิ้งและเลิกดื่มเหล้าอย่างสิ้นเชิงจนถึงทุกวันนี้.
 

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บาปคือความทุกข์

ผู้ศรัทธา คือผู้ที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า และดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่พระองค์กำหนดไว้ นั่นคือเส้นทางแห่งอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยความดีงามต่างๆ มากมาย รวมทั้งมีประโยชน์ที่จะส่งผลดีต่อตัวผู้ศรัทธาเอง
เมื่อใดที่มนุษย์ยอมรับคำสอน ของอัลลอฮฺและนำมาปฏิบัติใช้จริงในชีวิต จะทำให้เขารู้สึกมีความสุขสงบจากการได้ปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺสั่งให้ทำ เพราะเขารู้ว่าทุกสิ่งที่อัลลอฮฺสั่งใช้นั้นล้วนมีประโยชน์ต่อตัวเขาเองทั้ง ในโลกนี้และโลกหน้า ตัวอย่างเช่น การละหมาดและการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺจะทำให้ใจของเขาสงบ การอ่านอัลกุรอานจะทำให้เขามีจิตใจที่แช่มชื่น การถือศีลอดจะทำให้เขาฝึกความอดทน เป็นต้น
จึงถือว่าการทำดีตามที่อัล ลอฮฺสั่งนั้น คือต้นเหตุแห่งความสุขของมนุษย์ เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
مَنْ عَمِلَ صَالِحاً مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ  (سورة النحل : 97) 
ผู้ ใดที่ปฏิบัติความดีทั้งผู้ชายหรือผู้หญิงโดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธาแล้วไซร้ แน่แท้เราจะให้เขามีชีวิตที่ดี และเราจะตอบแทนพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีที่สุดตามการปฏิบัติความดีของพวกเขา (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัน-นะหฺลิ: 97)
ในขณะที่ ผู้กระทำความผิดบาปซึ่งบางครั้งเราอาจจะมองเห็นว่าเขามีความสุข แต่อันที่จริงแล้ว ในใจลึกๆ ของเขาจะเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะการทำบาปหมายถึงการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺหรือการทรยศอัลลอฮฺนั่น เอง
มนุษย์จะไม่มีความสุขได้ถ้า หากตัวเองรู้ว่ากำลังทำผิดในขณะที่อัลลอฮฺกำลังดูเขาอยู่และเตรียมบทลงโทษ สำหรับบาปของเขาไว้เรียบร้อยแล้ว
ใครก็ตามที่ศรัทธามั่นต่ออัล ลอฮฺ จะรู้สึกว่าความผิดบาปนั้นทำให้เขาอึดอัดและอยู่ไม่เป็นสุข เพราะบาปนั้นคือสาเหตุที่อัลลอฮฺอาจจะส่งการลงโทษของพระองค์มายังเขาได้ เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
أَفَلَمْ يَرَوْا إِلَى مَا بَيْنَ أَيْدِيهِمْ وَمَا خَلْفَهُم مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ إِن نَّشَأْ نَخْسِفْ بِهِمُ الْأَرْضَ أَوْ نُسْقِطْ عَلَيْهِمْ كِسَفاً مِّنَ السَّمَاءِ إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَةً لِّكُلِّ عَبْدٍ مُّنِيبٍ  (سورة سبأ : 9) 
หรือ พวกเขาไม่เห็นสิ่งที่อยู่ต่อหน้าและข้างหลังพวกเขา ซึ่งมีทั้งฟากฟ้าและแผ่นดิน มาตรแม้นว่าเราประสงค์แล้วไซร้ เราก็จะให้แผ่นดินกลืนพวกเขา หรือเราจะส่งลูกไฟลงมาจากฟ้า แท้จริงสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายแก่บ่าวทุกคนที่นอบน้อม (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ    สะบะอฺ : 9)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่ง มีความว่า บาป นั้นคือสิ่งที่ทำให้ขุ่นหมองใจอยู่ในอกท่าน และท่านกลัวว่าคนอื่นจะมาเห็น (รายงาน โดยมุสลิม) จะเห็นได้ว่าบาปคือเหตุและต้นตอของความกังวลใจ ซึ่งมีผลต่อความสงบสุขของจิตใจมนุษย์
การทำบาปและการฝ่าฝืนคำสั่ง ของอัลลอฮฺนั้นจะส่งผลเสียต่อตัวมนุษย์เอง และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การดื่มเหล้าและของมึนเมาจะทำให้มนุษย์เสียสติมีผลเสียต่อระบบสมอง การพนันทำให้มนุษย์สูญเสียทรัพย์สมบัติและส่งผลให้ขี้เกียจทำงานหาเลี้ยงชีพ โดยสุจริต การผิดประเวณีทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคร้ายและกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อความสงบสุขของชีวิต มนุษย์จึงต้องดำรงอยู่บนเส้นทางของอัลลอฮฺ ด้วยการหมั่นทำความดีและหลีกเลี่ยงการทำบาปให้มากที่สุด
- ข้อคิดที่ได้ รับจากบทเรียน
1. ผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติความดี งาม คือผู้ที่สามารถรับรู้ถึงความสงบสุขของจิตใจและมีพลังใจในการดำเนินชีวิตใน โลกนี้ 
2.ความ สุขที่แท้จริง คือความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจ จากการที่มนุษย์น้อมรับคำสอนของอัลลอฮฺด้วยความเชื่อมั่นในพระองค์ ไม่ใช่ความสุขทางกายชั่ววูบที่ได้มาจากการทำบาป
3.บาป คือต้นเหตุที่อัลลอฮฺจะส่งบทลงโทษของพระองค์ลงมายังมวลมนุษย์ บทลงโทษของอัลลอฮฺอาจจะอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่นภัยธรรมชาติ ภัยสังคม เป็นต้น
4.เครื่อง หมายของความผิดบาปที่อาจจะรู้สึกได้ คือความกังวลใจ ความสับสน และจิตใจที่ไม่สงบนิ่ง
5. เพื่อสร้างความสุขให้กับจิต ใจ มนุษย์จึงต้องหันกลับไปพึ่ง  อัลลอฮฺ ด้วยการศรัทธา ปฏิบัติความดี ละทิ้งความชั่ว และขออภัยโทษเพื่อชำระล้างบาปทั้งหลายที่ตนได้กระทำ
- คำถามหลังบทเรียน
1. ท่านคิดว่าการทำบาปมีผลเสีย ต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง? กรุณายกตัวอย่าง
2. ท่านคิดว่าอะไรคือความสุขที่ แท้จริง? และท่านสามารถมีความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร? กรุณาแสดงความคิดเห็น
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า การทำบาปจะทำให้มนุษย์รู้สึกไม่สงบในจิตใจ? และควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกเช่นนั้น?

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รู้ทัน ปัญหา "เด็กนอนกรน" ก่อนพัฒนาการลูกจะเสื่อมถอย!

 สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว ซนมากผิดปกติ เรียนรู้อะไรได้ช้า อาการเหล่านี้คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนใดปรารถนาให้เกิดกับลูกน้อยอย่างแน่นอน แต่คุณพ่อ คุณแม่รู้หรือไม่ว่า อาการเหล่านี้ เด็กทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น หากลูกของคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการ "นอนกรน"
       เรื่องภาวะการนอนกรนในเด็ก (Snoring Children) เสียงกรนเล็กๆ ที่กลายเป็นปัญหาหนักอกของบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ทางการแพทย์ยืนยันว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และสติปัญญาของลูกน้อย หากมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยอาจมีอันตรายถึงชีวิต
       ในเรื่องนี้ "นพ.พลพร อภิวัฒนเสวี" โสต ศอ นาสิกแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบภาวะนอนกรนในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันภาวะนอนกรนที่เป็นอันตรายในเด็กพบมากขึ้นประมาณ 10% ส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุก่อนวัยเรียน (Preschool) หรือช่วงอายุ 2-6 ปี เนื่องจากวัยนี้ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายจะโตขึ้น รวมทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ด้วย ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรนซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย และกำลังกลายเป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายกลุ้มอกกลุ้มใจ เพราะอันตรายที่แฝงมากับเสียงกรนน้อยๆ นั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของลูก 
        ด้านปัจจัยที่ทำให้ลูกน้อยนอนกรน อาจเกิดได้จากการเป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคระบบทางเดินหายใจ มีอาการของต่อมทอนซิล หรือต่อมอดีนอยด์โตผิดปกติ หรือเกิดในเด็กที่มีรูปร่างอ้วน น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน รวมถึงบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนอนกรน
       "นอนกรน" ตัวทำลายพัฒนาการลูกน้อย
       อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกมีปัญหานอนกรน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบภาวะนอนกรนในเด็กรายนี้บอกว่า จะทำให้การนอนหลับของลูกไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ และจะอันตรายมากเมื่อมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วย เนื่องจากการหยุดหายใจตอนหลับมีผลทำให้ออกซิเจนในเลือดตกลง ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายมากขึ้น หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีอาการหัวใจโตขึ้น ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
       "นอกจากนี้ เด็กจะมีอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน ปัสสาวะรดที่นอน หลับไม่สนิท นอนดิ้นไปดิ้นมาเหมือนนอนหลับไม่สบาย ผวาตื่นหรือฝันร้ายได้ และจะอ้าปากเสมอเวลานอน เนื่องจากต่อมอะดินอยด์โตทำให้มี ลักษณะกระดูกเพดานปากโก่งสูง ฟันหน้ายื่นเหยินออกมาจนผิดรูป เนื่องจากเด็กหายใจเข้าออกผ่านทางปากไม่ค่อยหายใจทางจมูกซึ่งเป็นช่องทาง หายใจปกติ นอกจากนี้ยังกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้ ความจำไม่ดี สมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือซุกซนมากกว่าปกติ" นพ.พลพร กล่าว
       ด้าน "พญ.มณินทร วรรณรัตน์" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก จากโรงพยาบาลเดียวกัน กล่าวเสริมว่า สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็กที่มีนอนกรน คือ เด็กมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต จนเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ เกิดการสั่นสะเทือนของโครงสร้างระบบทางเดินหายใจ คือลิ้นไก่และเพดานอ่อนจึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น หรือเกิดอาการแน่นจมูกเรื้อรัง เป็นโรคภูมิแพ้จมูก หรือในรายมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกใบหน้าผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงเด็กที่มีรูปร่างอ้วน จะมีไขมันรอบคอมาก ขณะหลับกล้ามเนื้อจะหย่อนตัว ไขมันรอบคอจะไปกดทางเดินหายใจมากขึ้นก็ทำให้เกิดเสียงกรนได้เช่นกัน
       "คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่าลูกมีภาวะนอนกรนที่เป็นอันตรายหรือไม่ เช่น เมื่อลูกหลับแล้วมีเสียงกรนดังเป็นประจำหรือไม่ เสียงนอนกรนขาดๆ หายๆ มีอาการหายใจเฮือกเหมือนคนขาดอากาศ หยุดหายใจเป็นช่วงๆ มีอาการเขียวรอบปากหรือริมฝีปากคล้ำขณะหลับ นอนหายใจอกบุ๋มท้องโป่ง หรือในตอนกลางวันมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติเหมือนนอนไม่พอ หงุดหงิดง่าย ซุกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น หรือปัสสาวะรดที่นอนหลังอายุ 5 ปี อาการเช่นนี้แสดงว่าลูกของคุณอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากโรคนี้" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก กล่าว 
       ปัจจุบันทางการแพทย์มีแนวทางตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธี โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้นอนกรน เช่น เด็กมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โตผิดปกติ เป็นโรคจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ หากอาการไม่ชัดเจนและคุณพ่อคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าลูกมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ หรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อยืนยันว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และอาการรุนแรงมากแค่ไหน
       สำหรับวิธีการรักษา หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยถึงสาเหตุและความรุนแรงของการนอนกรนแล้ว แพทย์จะให้การรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น รักษาภูมิแพ้จมูกอักเสบ รักษาต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์ที่โตผิดปกติในเด็กโดยการผ่าตัดรักษา หรือการใช้เครื่องเป่าอากาศขณะหลับ ที่มักใช้ในการรักษาในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
       อย่างไรก็ตาม ภาวะนอนกรนในเด็ก เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยปละละเลย หากพบว่าลูกมีอาการนอนกรน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพื่อพัฒนาการที่ดีเยี่ยมของลูกน้อย จะได้ไม่มีฝันร้ายมาทำลายให้สะดุดลง

ที่มา  http://www.baanmuslimah.com/islamichomeschool/node/228

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตำแหน่งท่านนบีมุฮัมหมัด


ไม่มีคำพูดหรือประโยคใดที่สามารถจะ บรรยายความยิ่งใหญ่ของท่านนบีมูฮัมหมัดได้ มันเป็นความยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ และตลอดไป..

มันเป็นความยิ่งใหญ่ที่สิงสถิตย์ แนบแน่นอยู่ในหัวใจทุกดวง...ชีวิตทุกชีวิต.. รู้สึกและรับรู้ได้ทั้งใกล้และไกล...

 เป็นความยิ่งใหญ่ที่เป็นที่ยอมรับ ของทั้งมิตรและศัตรู...

เขาคือศาสดามูฮัมหมัดผู้ซึ่งเพรียบ พร้อมด้วยจริยวัตรและมารยาทที่งดงาม..หาที่เปรียบมิได้..

เป็นความสูงส่งที่ไม่มีใครสูง ส่งเท่า...เพรียบพร้อมด้วยความคิดที่สมบูรณ์... ความเห็นที่แตกฉาน...และความคิดที่ถูกต้อง...

เป็นผู้ที่มีความโอบอ้อมอารีอย่าง ที่สุด..ยิ่งกว่าลมที่พัดพาความร่มเย็น มาสู่เรา..

เป็นผู้ให้ที่ไม่เคยกลัวความ จน...เป็นผู้ที่นอนอยู่บนเสื่อผืนหมอนใบ..ใช้ชีวิต อย่างสมถะ..ถ่อมตน

เป็นผู้เสียสละเป็นผู้ให้ที่ไม่เคย เก็บสิ่งใดไว้เลย...


เป็นผู้กล่าวว่า
"จงให้เถิด โอ้บิลาล..และจงอย่ากลัวว่าพระเจ้าจะตอบแทนเจ้าอย่างน้อย..."

ใจกว้าง..จนไม่มีใครใจกว้างเท่า... สุภาพนอบน้อม..จนไม่มีใครสุภาพ เท่า...

ให้อภัยคนพาล..แนะนำสั่งสอน..ท่าน ภูมิใจในการพิชิตแต่ถึงกระนั้นยังได้กล่าวแก่บรรดาเชลยของท่านว่า "จงไปเถิด..พวกเจ้าเป็น อิสระ"

ท่านถ่อมตนจนไม่มีผู้ใดเสมอ เหมือน..คลุกคลีทั้งเศรษฐีทั้งยาจก..เคียงข้างคนเฒ่า คนชราหญิงแก่แม่ม่าย..

ท่านเคยเดินไปยังที่ที่ซึ่งไกลออก ไปจากเมืองเพียงเพื่อช่วยเหลือคนใช้ธรรมดาคนหนึ่ง...ถึงแม้ตำแหน่งทียิ่ง ใหญ่ของท่านแต่ท่านไม่เคยทำตัวว่าแตกต่างจากบรรดาสหายของท่านเลย..


ท่านเป็นคนง่ายๆนอบน้อมถ่อม ตน...ในระหว่างสองสิ่งท่านจะเลือกสิ่งที่ง่ายกว่าถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นที่ต้อง ห้าม...แต่ กระนั้นในเรื่องสัจธรรมความถูกต้องแล้วท่านจะเป็นคนที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจังเสมอ...

ท่านไม่เคยโกรธเพื่อตัวท่านเองแต่ เพื่ออัลลอฮฺ..เมื่อใดที่ข้อห้ามของอัลลอฮฺถูกละเมิดไม่มีอะไรมาขัดขวางความ โกรธของท่านได้จนใบหน้าของท่านแดงกล่ำเสมือนหนึ่งเม็ดทับทิม...


ท่านกล้าหาญกว่าใครทั้ง มวล..ความมุ่งมั่นที่ท่านมีไม่มีใครเทียบได้...เผชิญหน้ากั ศัตรูด้วยความยืนหยัดมั่นคงอดทน...คลุกฝุ่น..และกล่าวว่า
"ฉันคือนบีมิใช่หลอก ลวง..ฉันคือลูกหลานอับดุลมุฏฏอลิบ…"

คำพูดของท่านนั้นสุภาพฉะฉานไม่มี ใครเสมอเหมือน....ท่านร้อยเรียงประโยคของท่านอย่างชัดเจนปราศจากข้อสงสัย ..ถูกต้องบริสุทธิ์..สัจจริง.. ยุติธรรมเป็นที่สุดเวลาตัดสิน
เป็นกลางเสมอเมื่อมีข้อขัด แย้ง...ท่านลงโทษถึงแม้คนที่ใกล้ชิดที่สุด..และ กล่าวสาบานว่า " ถ้าแม้ฟาตีมะหบุตรีมูฮัม หมัดขโมยแล้วฉันจะตัดมือของนางเอง"

ท่านมีจิตใจที่บริสุทธิ์เป็นที่ สุด..มีหัวใจที่สูงส่ง..หัวใจของท่านมีแต่อัลลอฮฺ..รักพระองค์ที่สุด

ท่านให้สิทธิแก่เจ้าของสิทธิ เสมอ..สิทธิของอัลลอฮฺ..สิทธิของภรรยา..สิทธิของการเผยแพร่..ครบถ้วน สมบูรณ์..ไม่มีขาด..ไม่มีตก..ไม่มีบกพร่อง..

สมถะเป็นที่สุดกับเรื่องดุนยา..กิน ของที่มี..ไม่เคยปฎิเสธสิ่งได้มา..ไม่เคยเรียกร้องสิ่งที่ไม่มี..ท่านนอนบน เสื่อ..บน หนัง..บนกรวด..บนดิน..บนทราย..

ท่านเห็นใจคนลำบากเป็นที่ สุด...เมตตาบรรดาคนลำบากยากจน...ความเมตตา สงสารของท่าน นั้นได้ไปยังมนุษย์ และสัตว์..และได้กล่าวเตือนบรรดาสหายของท่านว่า "ผู้หญิงคนหนึ่งต้องตกนรก เพราะแมว ตัวหนึ่งซึ่งหล่อนได้ขังไว้ โดยไม่ยอมให้อาหารมันและไม่ยอมปล่อยให้มันได้เสาะหาอาหารเอง"

ถ้าหากสมมุติว่าท่านนบีไม่มีบุญคุณ ใดนอกจากการที่เขาเป็นสื่อกลางใน การนำฮิดายะห์จากฟากฟ้ามายังโลก และนำกุรอ่านมายังจักรวาลแค่นั้นก็เป็นพระคุณและความดีที่จักรวาลนี้ไม่อาจ ปฏิเสธได้และเป็นบุญคุณที่มนุษยชาติไม่อาจตอบแทนได้..และเป็นสิ่งที่มนุษย์ ไม่อาจทดแทนบุญ คุณแพ้เพียง เสี้ยวหนึ่งได้..

นั่นเป็นส่วนหนึ่งในรัสมีแห่งความ เป็นนบี...เป็นแสงสว่างจากตะเกียงแห่งมูฮัมหมัดอันบริสุทธิ์.. แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่เกินจะบรรยายได้ด้วยคำพูด...มีรายละเอียดที่เกิน จะกล่าวถึงได้..ณ ที่นี้..
ลองถามประวัติศาสตร์สิ..แล้วจะรู้ ว่าไม่มีผู้ใดที่จะยิ่งใหญ่เทียบเท่าท่านนบีมูฮัมหมัด..เพราะ ท่านนั้นปราศจากความผิดใด...อยู่เหนือข้อบกพร่องต่างๆ...ตำแหน่งของท่านนั้น ยิ่งใหญ่ เกินที่ข้อ บกพร่องจะเอื้อมถึง...

เชคมุฮัมมัด บินซอและฮฺ อัลมุนัจญิด...เขียน
อัดนาน นาแซ...แปล


วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

10 ขั้นตอน สำหรับความสำเร็จในการเรียนของมุสลิม


 
10 ขั้นตอน สำหรับความสำเร็จในการเรียนของมุสลิม

1. ให้สร้างความตั้งใจว่า ทุกสิ่งที่เราจะทำในชีวิตของเรา(เรียน)นั้นเป็นการทำเพื่ออัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮู วะตะอาลา) เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของพระองค์ เพื่อสวรรค์ที่จะได้รับ(ด้ยความบริสุทธิ์ใจ) ถ้าพระองค์ไม่ให้เรา เราก็คงไม่ได้รับสิ่งดีงามต่างๆ ความสำเร็จอยู่อัลลอฮฺจริงมั้ยคะ? ที่สำคัญหน้าที่ของมุสลิม คือ การเผยแพร่สัจธรรมของพระองค์ อย่าลืมหาทางเผยแพร่ศาสนาให้กับเพื่อน อาจจะตอบปัญหาอิสลามที่เพื่อนสงสัย เช่น ทำไมอิสลามจึงห้ามกินหมู เป็นต้น

2. หลังจากผ่านข้อ 1 เราจะรู้สึกว่า เมื่อเราทำเพื่ออัลลอฮฺและแสวงหาความโปรดปรานจากพระองค์ เราจึงต้องรำลึกถึงความตั้งใจของเราว่าเราทำเพื่อใคร เราจะต้องทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด การเรียนของเราก็จะไม่ได้ธรรมดาเหมือนคนทั่วไปแล้วละ เพราะเราเรียนเพื่ออัลลอฮฺ (โห กำลังใจมีขึ้นเป็นกอง ผลตอบแทนไม่ได้แค่โลกนี้อย่างเดียว ได้กำไรคูณสองถึงโลกหน้าเลย) นั่นละเป็นกฎเหล็กของเราเลยที่จะคอยเตือนตัวเองเวลาอยากโดดเรียนหรือขี้ เกียจอ่านหนังสือ
3. เริ่มจัดตารางและแบ่งเวลาสำหรับการอ่านหนังสือ ทบทวนวิชาที่เรียน และแบ่งเวลาออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายนั้น ทางการแพทย์กล่าวว่า จะมีสารตัวหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่น จะได้มีกำลังอ่านหนังสือได้เยอะๆ และจะได้มีสุขภาพที่ดีในการทำอามาลอิบาดะฮฺ(ความดี) เพื่ออัลลอฮฺได้มากๆด้วยไง

 
4.สำหรับเวลาในการอ่านหนังสือ ต้องจัดแบ่งให้ดี อย่าดึกจนเกินไป เดี๋ยวไม่ตื่นละหมาดซุบฮิ ขอแนะนำว่าไม่ควรอ่านเกิ22.00 เพื่อที่เราจะได้ตื่นมาละหมาดกิยามุลลัยนฺ(ละหมาดกลางคืนก่อยเวลาละหมาดซุบ ฮิ) เพื่อขอบคุณที่พระองค์เมตตาต่อเราให้เราได้รับสิ่งที่ดีงามพร้อมกับวิงวอนขอ ในสิ่งที่อยากได้ เช่น ขอให้ได้ เกรด 4.00 ขอให้ได้คู่ครองที่ดี ขอให้ได้เข้าสวรรค์ ฯลฯ และถ้ามีเวลาว่างหลังจากละหมาดซุบฮิแล้วจะดีมาก เพราะช่วงเวลานั้นจะเป็นช่วงที่อัลลอฮฺเปิดสมองและยังเป็นการทำตามซุนนะท่าน นบีที่ไม่ได้นอนต่อหลังจากซุบฮิ ท่านจะนอนหลังจากละหมาดดุฮฺริ

5. และอย่าลืมแบ่งเวลาสำหรับการศึกษาอัล กุรอาน เพราะกุรอานนั่นแหละ คือ แนวทางสำหรับการดำรงชีวิตของเราและศาสตร์สาขาต่างๆนั้นมีมากมายในกุรอาน ใครที่เข้าใจจดจำกุรอานและปฏิบัติตามกุรอานได้ วิชาไหนๆก็ไม่ยากเกินไปสำหรับเขาแล้ว จริงมั้ยคะ
6. เวลาเรียนในห้องเรียน ให้ตั้งใจ ฟัง จด และเข้าใจ และถ้ามีเวลาว่างหลังจากหมดวิชานั้นก็ทบทวน จะได้ไม่ลืม

7. การเรียนในวิชาใดที่ขัดต่ออิสลาม ให้จดจำไว้ และพยายามคิดอยู่เสมอว่าเราจะนำอิสลามเข้าไปฟื้นฟูได้ในทางใดบ้าง และอย่าปฏิบัติตามสิ่งที่เรียนแล้วขัดต่ออิสลาม

8. ถ้าอาจารย์ให้ออกมาทำในสิ่งที่ขัดต่ออิสลาม เช่น ให้ออกมาร้องเพลงหน้าห้อง หรือ ออกมารายงานทำงานกับเพื่อนแล้วอาจจะมีการถูกเนื้อตัว จงอธิบายให้อาจารย์เข้าใจว่าเราไม่สามารถทำได้เนื่องจากหลักการอิสลามกำหนด ห้ามไว้ และรำลึกถึงอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลาว่าพระองค์ทรงมองดูเราอยู่


 9. จงยืนหยัด ไม่ว่าเราจะเป็น มุสลิมเพียงคนเดียวหรือสองคนในคณะหรือมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน เราจะมีความสุขหากเรารำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ว่าเราได้ทำหน้าที่ที่อัลลอฮฺกำหนดให้ นั่นก็คือ เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ลองทำดู แล้วเราจะได้สัมผัสถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺอย่างมากมายเลยละ

10. หลังจากทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว จงตะวักกัล(มอบหมาย) เพระเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺแล้วละว่าพระองค์จะทรงประทานให้เราในสิ่งใด แน่นอน พระองค์ทรงเป็นผู้ยุติธรรม และก็อย่าสิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ หากไม่ได้ในโลกนี้พระองค์ก็จะเพิ่มพูนให้ในโลกหน้า และพระองค์จะประทานสิ่งที่ดีที่สุดให้กับมุสลิมผู้ศรัทธาทุกคน

10 ขั้นตอนง่ายๆของผู้ศรัทธา สามารถใช้ได้กับการทำงานทุกๆการงานได้ หากทำข้อ 1 ผ่าน เราก็สามารถที่จะทำทุกอย่างได้โดยง่ายเลยละคะ อินชาอัลลอฮฺ

ที่มา www.baanmuslimah.com