องค์ประกอบสำคัญในการทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รศ.ดร.อารี พันธ์มณี อดีตอาจารย์จากภาคการแนะนำและจิตวิทยาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) แนะนำไว้ว่าต้องเริ่มจาก ผู้สอนและผู้เรียนหรือครูกับศิษย์หากปราศจากผู้สอนกับผู้เรียนแล้ว บรรยากาศแห่งการเรียนการสอนคงไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนาน กระตือรือร้น ยั่วยุ ท้าทาย ให้อยากเรียนหรือบรรยากาศที่น่าเบื่อ เซ็ง เครียด ไม่อยากเรียน ทั้งผู้สอนและผู้เรียนต่างก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศดังกล่าว โดยครูจะเป็นผู้เริ่มสร้างบรรยากาศ ผู้เรียนก็จะเป็นคนตอบสนองและเติมสีสันให้กับบรรยากาศการเรียนการสอนให้เป็นไปในรูปแบบต่างกัน บรรยากาศการเรียนการสอนที่เป็นอิสระ ท้าทาย ตื่นเต้น ปลอดภัย เป็นประชาธิปไตย หรือบรรยากาศการเรียนการสอนที่ไม่มีชีวิตชีวา กังวล กระวนกระวายใจ เครียด ตื่นกลัว เคร่งครัด เผด็จการ หรือบรรยากาศการเรียนการสอนที่ราบเรียบ เฉื่อยๆ ชวนง่วงนอน เหล่านี้ต่างก็เป็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
บรรยากาศการเรียนการสอนที่ผู้สอนให้ความอบอุ่นทั้งทางกายและจิตใจ สร้างความรู้สึกไว้วางใจให้กับผู้เรียน ผู้เรียนได้รับความเข้าใจ เป็นมิตร เอื้ออาทร ห่วงใย ตลอดจนให้ความดูแลช่วยเหลือจะทำให้ผู้เรียนมีความกล้าและอยากเรียนรู้มากขึ้น การตำหนิติเตียนดูถูกดูแคลนเยาะเย้ย ถากถาง ประชดประชัน เสียดสี จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกอับอาย เสียหน้าขยาด และขลาดกลัวที่จะเรียนรู้ เป็นการลิดรอนความคิดสร้างสรรค์อีกต่างหาก จากการสัมภาษณ์ผู้เรียนส่วนหนึ่ง ได้แสดงทัศนะไว้ดังนี้ การเรียนโดยถูกระทำอย่างรุนแรงด้วยคำพูด หรือแม้กระทั่งการกระทำทางสีหน้า ท่าทาง และการตัดสินคนด้วยคะแนน ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าเป็นการเรียนที่ไม่สนุกสนานไม่ท้าทาย และทำให้เครียด เพราะมัวแต่กังวลอยู่กับความสมบูรณ์ซึ่งบางครั้งก็ยากในระยะเริ่มแรกเรียน ครูจึงควรให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ ลงมือกระทำ ปฏิบัติ และพิจารณาจากผลงาน ความตั้งใจจริง ความสม่ำเสมอ ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบตลอดเวลาเรียน เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความสามารถมิใช่เพียงคะแนนสอบเท่านั้น บรรยากาศการเรียนการสอนที่มีการยอมรับ มองเห็นคุณค่าในตัวผู้เรียน ผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญมีคุณค่าและสามารถเรียนได้ ผู้สอนควรแสดงการยอมรับอย่างจริงใจและกระตุ้นผู้เรียนให้ยอมรับตนเอง และต้องเชื่อมั่นว่าสามารถทำสำเร็จ ด้วยคามคิดที่ว่า “ถ้าคุณเชื่อว่าคุณทำได้ คุณก็จะทำสำเร็จ”
ครูจึงควรยอมรับศิษย์ว่าเป็นมนุษย์มีเลือกเนื้อ มีความคิดความรู้สึกและมีความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูจึงควรเปิดโอกาสให้ศิษย์ได้แสดงออกทั้งความคิด และการร่วมกิจกรรมและให้โอกาสเลือกลงมือกระทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพราะคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดของลูกศิษย์ครูต้องยอมรับศิษย์ด้วยความใส่ใจ สนใจความคิดความรู้สึก การกระทำรับฟังขณะศิษย์พูดคุยตอบข้อซักถาม ใส่ใจ พูดคุย ซักถาม เพื่อทำให้ศิษย์รู้สึกมั่นใจ ไม่ว่าเว้ หากครูไม่ยอมรับเด็กจะรู้สึกเจ็บปวด สูญเสียความมั่นใจ ไม่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของตนเองและไม่ยอมเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ บรรยากาศการเรียนการสอนที่เป็นอิสระ ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กคิดแสดงออกอย่างอิสระและยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ ความรู้และวัยของเด็กเพราะเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ ควรให้โอกาสเวลาและเรียนรู้ลองผิดลองถูก ความผิดพลาดหรือไม่สมบูรณ์เด็กไม่ควรถูกตำหนิจนเกินไป แต่เป็นการเรียนรู้และมีความสมบูรณ์ในเวลาต่อมา ด้วยทักษะความชำนาญ ประสบการณ์ที่เพิ่มพูน และความผิดพลาดก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ บรรยากาศการเรียนการสอนแห่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้สอนสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัย อิสระ ยอมรับนับถือให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการกระทำ
ส่วนบรรยากาศการเรียนการสอนที่ท้าทาย ผู้สอนต้องเสริมแรงและให้กำลังใจ จากความสำเร็จและกระตุ้นให้ผู้เรียน กล้าคิด กล้าลอง กล้าแสดงความคิดเห็น และทำงานที่ค่อนข้างยากเพื่อท้าทายความสามารถของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้สามารถทดลองขีดความสามารถของตน เพื่อจะได้พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และตัวครูต้องแสดงความรู้สึกเชื่อมั่น และเป็นกำลังใจให้กับศิษย์ เพื่อว่าศิษย์จะได้ก้าวไปในระดับสูงขึ้น ดังนั้น การสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เอื้ออำนายให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จึงควรเป็นบรรยากาศที่มีความหลากหลายในตัวเอง เต็มไปด้วยความอบอุ่น การไว้วางใจ การให้อิสระ ท้าทายและที่สำคัญไม่ถูกกำหนด บังคับด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัดมากจนเกินไป หากครุไทยทำได้ดังนี้ เด็กไทยก็คงเกิดความคิดสร้างสรรค์ในตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น