วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

ชีวิตอภิรมย์ : จากถ้อยคำที่ดีงามสู่นิวาสถานอันบรมสุขสถาพร


การมีชีวิต อย่างบรมสุขคือเป้าหมายของมนุษย์เรืองปัญญา ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันและอนาคต มนุษย์พยายามคิดค้นทฤษฎีต่างๆ เพื่อนำมาซึ่งความสุขตลอดจนไขว่คว้าทุกอย่างเพื่อให้บรรลุถึงความสุขที่คาด หวังไว้ แต่มนุษย์ก็ยังเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ได้แต่ตะเกียกตะกายฝ่าฟันและค้นหา ความสุข แม้มันอาจเป็นแค่ชั่วแล่นหรือจอมปลอมก็ตาม


อิสลามสอนว่า มนุษย์ประกอบด้วย 2  ส่วนสำคัญ คือส่วนที่เป็นธาตุดิน และส่วนที่เป็นวิญญาณ อัลกุรอานเป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มเดียวที่เปิดเผยรากเหง้าของมนุษย์ได้ อย่างละเอียดและถูกต้องแม่นยำที่สุด อัลกุรอานอธิบายส่วนที่เป็นธาตุดิน อันประกอบด้วย สรีระร่างกายตลอดจนความลี้ลับต่างๆ ที่เป็นวิวัฒนาการการกำเนิดของมนุษย์ช่วงในครรภ์มารดาเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบทางวิทยาการสมัยใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งและยัง คงเป็นสิ่งท้าทายสติปัญญาของมนุษย์จวบจนปัจจุบันและอนาค

แต่อัลกุรอานไม่ได้แจกแจงอย่างละเอียดส่วนที่ เป็นวิญญาณของมนุษย์ และมนุษย์ก็ไม่สามารถหยั่งรู้ธาตุแท้ของวิญญาณของตนเอง แม้จะใช้กำลังสติปัญญามากมายเพียงใดก็ตาม กล่าวได้ว่า มนุษย์สามารถรอบรู้ทุกอย่างทั้งท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ใต้ดินอันลึกลับ แม้กระทั่งในอวกาศอันไพศาล กระนั้นมนุษย์ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิญญาณของตนเองได้เลย มีบางคนกล่าวว่า มนุษย์สามารถโบยบินกลางนภาเหมือนเหล่าสกุณา สามารถแหวกว่ายในมหาสมุทรดั่งฝูงปลา แต่ในบางครั้ง มนุษย์ไม่สามารถเดินเหินบนหน้าแผ่นดินเยี่ยงมนุษย์เรืองปัญญา
อัลลอฮฺ กล่าวไว้ความว่า
﴿وَيَسْأَلُونَكَ عَنِ الرُّوحِ قُلِ الرُّوحُ مِنْ أَمْرِ رَبِّي وَمَا أُوتِيتُم مِّن الْعِلْمِ إِلاَّ قَلِيلاً﴾ (الإسراء : 85 )


“และพวกเขาจะถามเจ้า(มุฮัมมัด) เกี่ยวกับวิญญาณ จงกล่าวเถิดว่า เรื่องวิญญาณนั้นเป็นไปตามพระบัญชาของพระเจ้าของฉัน (คือเป็นสิ่งเร้นลับซึ่งไม่มีใครจะล่วงรู้ได้ นอกจากพระองค์) และพวกท่านจะไม่ได้รับความรู้ใดๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น”  (อัลอิสรออ์:17/85)   



ในเมื่อมนุษย์ยังไม่รู้ธาตุแท้ของวิญญาณ เป็นไปได้ละหรือที่มนุษย์สามารถคิดค้นทฤษฎีต่างๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจและบันดาลสุขให้กับจิตวิญญาณ ?
“เรื่องวิญญาณนั้นเป็นไปตามพระบัญชาของพระ เจ้าของฉัน”                
อายะฮฺนี้มีนัยว่า เรื่องวิญญาณเป็นสิ่งเร้นลับซึ่งไม่มีใครจะล่วงรู้ได้นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น มนุษย์อาจจะมีความรู้บ้างในเรื่องสรีระร่างกาย (ธาตุดิน) ดังนั้นมนุษย์จึงสามารถคิดค้นวิธีบำบัดรักษาร่างกายได้ตามศาสตร์ความรู้และ ประสบการณ์ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย แต่มนุษย์ไม่มีวันที่จะไปหยั่งรู้ธาตุแท้ของวิญญาณ ดังนั้นมนุษย์ไม่น่าจะคิดค้นวิธีบำบัดรักษาเยียวยาและสร้างความพึงพอใจแก่ วิญญาณได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำพาวิญญาณให้บรรลุถึงความสุขอันแท้จริง              
               
ผู้ใดก็ตามที่พยายามค้นหาทำความเข้าใจจิตวิญญาณตามลำพัง และพยายามคิดค้นทฤษฏีต่างๆ ในการสร้างความพึงพอใจแก่จิตวิญญาณ เขาจะมีสภาพที่ไม่ต่างจากนักบินฝึกหัดซึ่งยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของการฝึก บิน ไม่เคยมีประสบการณ์ทางภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือความรู้พื้นฐานของการฝึกบิน และยังไม่ประสาเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่เขายังฝืนขับเครื่องบินด้วยความคึกคะนองและทระนงตน ซึ่งมีแต่จะลอยเคว้งคว้างบนท้องฟ้าอย่างไร้ทิศทางและปราศจากการควบคุม รอเวลาร่วงตกลงสู่พื้นดินเท่านั้น
อัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลจักรวาลเป็นผู้สร้างมนุษย์ พระองค์ไม่ทอดทิ้งมนุษย์ให้ลอยเคว้งคว้างอย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากการชี้นำ พระองค์จึงประทานศาสนทูตมายังมนุษย์เพื่อจัดระเบียบชีวิตมนุษย์ในทุกยุคทุก สมัย คำสอนของบรรดาศาสนทูต คือศาสนาที่มนุษย์ต้องยึดเป็นต้นแบบในการดำรงชีวิต ศาสนทูตคนสุดท้ายที่ถูกประทานลงมาคือนบีมูฮัมมัด สาส์นของท่านคือคำสอนที่ สอดคล้องกับสามัญสำนึกของมนุษย์ เป็นบทบัญญัติที่ครอบคลุม สมดุล บูรณาการและมั่นคงยั่งยืน
               
ร่างกายของมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยธาตุอาหาร ต่างๆ ซึ่งล้วนมาจากดินอันเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ แต่ร่างกายคือส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของมนุษย์เท่านั้น มีส่วนประกอบที่สำคัญของมนุษย์อีกประการหนึ่งคือ วิญญาณ คำถามว่าอะไรคือธาตุอาหารของวิญญาณ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อะไรคือวิญญาณของวิญญาณ
                
วิญญาณของวิญญาณคืออัลกุรอาน ซึ่งเป็นประมวลคำสอนของอัลลอฮฺผู้ทรงสร้างมนุษย์ ผู้ทรงสร้างวิญญาณและผู้ทรงเป่าวิญญาณของพระองค์เข้าไปในมนุษย์คนแรกคือ อาดัม ดังนั้นวิญญาณนี้ต้องการธาตุอาหารจากอัลลอฮฺ เช่นเดียวกันกับร่างกายต้องการธาตุอาหารที่มาจากดิน วิญญาณต้องการภูมิคุ้มกัน เสี่ยงต่อการติดโรค ต้องได้รับการบำบัดรักษาและควรอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดเชื้อเหมือนร่างกายทุก ประการ
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿أَوَ مَن كَانَ مَيْتاً فَأَحْيَيْنَاهُ وَجَعَلْنَا لَهُ نُوراً يَمْشِي بِهِ فِي النَّاسِ كَمَن مَّثَلُهُ فِي الظُّلُمَاتِ لَيْسَ بِخَارِجٍ مِّنْهَا كَذَلِكَ زُيِّنَ لِلْكَافِرِينَ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ﴾ (الأنعام : 122 )
“และผู้ที่ตายแล้ว ( หมายถึงผู้ที่งมงายโดยเปรียบเทียบพวกนี้ว่าเหมือนคนที่ตายแล้ว) แล้วเราได้ให้เขามีชีวิตขึ้น (หมายถึงให้พวกเขาได้รับความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องในการดำเนินชีวิต ซึ่งเปรียบประหนึ่งว่าเขามีชีวิตขึ้นใหม่หลังจากตายไปแล้ว) และเราได้ให้แสงสว่าง (หมายถึงให้คัมภีร์อัลกุรอานไปด้วยหลักการดำเนินชีวิต ซึ่งเปรียบประหนึ่งแสงสว่างที่ช่วยให้รู้ว่าอะไรคือประโยชน์และอะไรคือโทษ แก่เขา ซึ่งเขาใช้แสงสว่างนั้นเดินไปในหมู่มนุษย์นั้น) จะเหมือนกับผู้ที่อุปมาของเขาซึ่งอยู่ในบรรดาความมืดโดยไม่สามารถออกมาจาก บรรดาความมืดเหล่านั้นได้กระนั้นหรือ ? ในทำนองนั้นแหละได้ถูกประดับให้สวยงามแก่ผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งสิ่งที่พวกเขากระทำกันอยู่(หมายถึงเห็นสิ่งไม่ดีเป็นสิ่งที่ดี ประหนึ่งเห็นกงจักรเป็นดอกบัว)”   (อัลอันอาม :6/122)   
                                                                                                                                                                                           
คำว่า “แสงสว่าง” ในอายะฮฺนี้ อิบนุอับบาสได้ให้ความหมายว่าคืออัลกุรอาน ท่านอัสสะอฺดีย์อธิบายว่าคืออิสลาม บางทัศนะเห็นว่าเป็นวิทยปัญญา(หิกมะฮฺ) และบางทัศนะเห็นว่าเป็นแสงสว่างที่ส่องแสงเส้นทางสู่โลกอาคิเราะฮฺ(โลกหน้า)
ทัศนะดังกล่าวข้างต้นถือว่าถูกต้องทั้งหมด เพราะแก่นแท้ของอิสลามคืออัลกุรอานที่บรรจุด้วยวิทยปัญญาและคำสอนที่จัด ระเบียบชีวิตบนโลกนี้และแสงสว่างในวันอาคิเราะฮฺ
ความหมายของคำว่า “ตาย” ณ ที่นี้คือ ตายหัวใจ เนื่องจากไม่มีความรู้และไร้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และสิ่งเดียวที่ทำให้หัวใจกลับมีชีวิตชีวาได้ คือ อัลกุรอานซึ่งเป็นคำวิวรณ์จากอัลลอฮฺนั่นเอง
ชีวิตเปี่ยมสุขคือพรอันประเสริฐจากอัลลอฮฺ
อัลกุรอานได้อธิบายชีวิตเปี่ยมสุขและเงื่อนไข สำคัญที่นำพามนุษย์ให้บรรลุถึงความสุขที่แท้จริง ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
﴿مَنْ عَمِلَ صَالِحاً مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ﴾ (النحل : 97 )
“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือ เพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขา ที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” (อันนะห์ลุ : 16/97)
                
เงื่อนไขของชีวิตเปี่ยมสุขตามนัยของอายะฮฺดัง กล่าวประกอบด้วย 2 ประการคือ 1) ความศรัทธา และ 2) การทำความดี ซึ่งเขาได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า
นักวิชาการมุสลิมได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับ “ชีวิตเปี่ยมสุข” ดังนี้
1. คือปัจจัยยังชีพที่หะลาลและดี
2. คือความรู้สึกเพียงพอในสิ่งที่ได้รับ
3. คือความสุขสถาพร
4. คือปัจจัยยังชีพที่หะลาลและการทำอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ที่ถูกต้องบนโลกดุนยา
5. การได้รับปัจจัยยังชีพในแต่ละวัน
6. การเชื่อฟังในคำสอนและมีความสุขใจ
7. ชีวิตเปี่ยมสุขอันแท้จริงคือชีวิตในสวน สวรรค์
8. ชีวิตเปี่ยมสุขคือชีวิตในหลุมสุสาน
อิบนุกะษีรได้สรุปว่า “ชีวิตเปี่ยมสุข คือชีวิตที่ครอบคลุมทั้งแปดประการดังกล่าวข้างต้น     อายะฮฺนี้เป็นสัญญาของอัลลอฮฺที่ประทานให้แก่มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งปฏิบัติความดีพร้อมศรัทธาต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ เขาจะมีชีวิตที่เปี่ยมสุขบนโลกนี้ และได้รับผลตอบแทนที่ดีในโลกอาคิเราะฮฺ”
ชีวิตที่คับแค้น
                อัลกุรอานได้อธิบาย ชีวิตอีกชีวิตหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิตเปี่ยมสุข นั่นคือชีวิตที่คับแค้น ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿وَمَنْ أَعْرَضَ عَن ذِكْرِي فَإِنَّ لَهُ مَعِيشَةً ضَنكاً وَنَحْشُرُهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَعْمَى، قَالَ رَبِّ لِمَ حَشَرْتَنِي أَعْمَى وَقَدْ كُنتُ بَصِيراً، قَالَ كَذَلِكَ أَتَتْكَ آيَاتُنَا فَنَسِيتَهَا وَكَذَلِكَ الْيَوْمَ تُنسَى، وَكَذَلِكَ نَجْزِي مَنْ أَسْرَفَ وَلَمْ يُؤْمِن بِآيَاتِ رَبِّهِ وَلَعَذَابُ الْآخِرَةِ أَشَدُّ وَأَبْقَى﴾ (طه : 124 - 127 )
“และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้น(คือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามบัญญัติของข้าแล้ว เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างยากแค้น ถึงแม้ชีวิตที่เห็นจากภายนอกจะสุขสบายดีก็ตาม ) และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺในสภาพของคนตาบอด เขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์จึงทรงให้ข้าพระองค์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในสภาพของคนตาบอดเล่า ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์เคยเป็นคนตาดี มองเห็น พระองค์ตรัสว่า เช่นนั้นแหละ เมื่อโองการทั้งหลายของเราได้มีมายังเจ้า เจ้าก็ทำเป็นลืมมัน และในทำนองเดียวกัน วันนี้เจ้าก็จะถูกลืม ” (ฏอฮา : 20/124-127)
                 
นักวิชาการมุสลิมได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับ “ชีวิตที่คับแค้น” ดังนี้
1. ชีวิตที่อัปยศ มีแต่ความเครียดเพราะครอบครองทรัพย์สินที่หะรอม  มีหัวใจที่ไม่ยำเกรงและไม่เคยชุโกร์(ขอบคุณ) ต่ออัลลอฮฺบนโลกนี้
2. การทรมานในกุโบร์
3. การทรมานในนรก (โลกอาคิเราะฮฺ)
ทั้งสามนัยดังกล่าวไม่น่าจะขัดแย้งกัน เพราะถึงแม้จะแตกต่างด้านเวลาและสถานที่ แต่ก็ยังคงความเหมือนด้านแก่นแท้และเนื้อหา นั่นคือการมีชีวิตที่คับแค้น เครียด และแสนทรมาน
วงจรชีวิตอภิรมย์ตามทัศนะอิสลาม
        «حياة طيبة» 
ชีวิตอภิรมย์ในโลกนี้
รากฐานของชีวิต : พจนารถที่ดี 
(หมายถึง คำปฏิญาณ ลาอิลาฮะอิลลัล ลอฮฺ) 
                     (كلمة طيبة)
กำกับและควบคุมโดย : ทางนำแห่งอัลกุรอาน
และสุนนะฮฺตามแนวทางท่านนบี
                     (نور القرآن وهدي المصطفى) 
อาศัยกระบวนการ: การประกอบอาชีพ
และอาหารที่ดีและหะลาล
                      (حلالا طيبا)
ผลผลิต: การปฏิบัติอะมั้ลที่ดี
                      (عملا صالحا)
บทพิสูจน์: จริยธรรมที่ดีงาม
                      (أخلاق حسنة)
รูปแบบการดำเนินชีวิต : มีคู่ชีวิตที่ดี
                     (زوجا صالحا)
ลักษณะของทายาทสืบสกุล: มีลูกหลานที่ดี
                     (ذرية طيبة)
ภายใต้สภาพแวดล้อม: สังคมที่ดี
และได้รับความโปรดปราน
                   (بلدة طيبة ورب غفور)
ชีวิตอภิรมย์ในโลกหน้า
- สภาพออกจากโลกนี้ :
   จิตที่ดี
                                             (النفس الطيبة)
- ลักษณะการต้อนรับ :
เสียงสรรเสริญจากมะลาอิกะฮฺ
                                             (سلام عليكم طبتم)
- สถานพำนัก
สวรรค์อันเป็นวินาสถาน
อันบรมสุขสถาพร
                                             (مساكن طيبة)
                                             ﴿ذَلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ﴾
วงจรชีวิตที่คับแค้น
«معيشة ضنكا»
แหล่งที่มาของทรัพย์สิน : ทรัพย์สินหะรอม
สภาพหัวใจ: หัวใจที่ไม่ยำเกรงอัลลอฮฺ
สภาพความเป็นอยู่ : ความรู้สึกที่ไม่ขอบคุณและไม่เคยเพียงพอ
- เครียด สิ้นหวัง (บนโลก)
- การทรมาน (ในกุโบร์)
- การทรมาน (ในโลกอาคิเราะฮฺ)
                                   ﴿ذَلِكَ هُوَ الْخُسْرَانُ الْمُبِينُ﴾
สรุป
ขอเรียกร้องและเชิญชวนทุกท่านมุ่งสู่ชีวิต อภิรมย์อันเป็นความสุขที่ยั่งยืนและชัยชนะที่ยิ่งใหญ่           ﴿ذَلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ﴾  ตลอดจนห่างไกลจากพฤติกรรมที่นำไปสู่ชีวิตที่คับแค้นซึ่งถือเป็นชีวิตอัปยศ ตลอดจนเป็นการทรมานอันแสนสาหัสและการขาดทุนอันชัดแจ้ง ﴿ذَلِكَ هُوَ الْخُسْرَانُ الْمُبِينُ﴾
والله الموفق والهادي إلى سواء السبيل.



 เนื้อหาในบทความนี้เป็นการสรุปย่อจากหนังสือ
(حياة طيبة : دري كلمة طيبة هيڠڬا مساكن طيبة)
เขียนโดย ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา
แปลสรุปโดย อ.มัสลัน มาหะมะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น